RAID คืออะไร ข้อควรรู้ของคนใช้ NAS

สวัสดีค่ะ สำหรับวันนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับ NAS เพิ่มเติมกัน ต่อจากบทความ รีวิวและสอนใช้งาน Synology DS920+ | ระบบคลาวด์ส่วนตัว ใช้งานง่าย ไม่ต้องจ่ายรายเดือน – E-Express.co.th ได้มีการพูดถึง RAID ไปในขั้นตอนการสร้าง Storage pools และ volumes ของเครื่อง เราจะมาอธิบายให้ชัดๆกันดีกว่าว่าแต่ละแบบต่างกันยังไง

มาพูดกันถึง 2 แบบแรกที่ไม่ใช่ RAID กันก่อนค่ะ นั่นก็คือแบบ Basic และ JBOD มีไว้สำหรับเริ่มต้นมีไดร์ฟเพียงไดร์ฟเดียวก็สามารถใช้งานได้ โดยแบบ Basic เป็นพื้นฐานเมื่อนำไดร์ฟมาเพิ่มก็จะสามารถเลือกได้ว่าจะตั้งค่าใหม่เป็นอะไรได้ ส่วน JBOD จะจัดการพื้นที่เก็บข้อมูลตามความเหมาะสมโดยแยกออกจากกันอย่างชัดเจนสามารถเพิ่มไดร์ฟได้ในอนาคตเช่นเดียวกันค่ะ

โดยทั้ง 2 แบบที่พูดถึงไปไม่ใช่การทำงานแบบ RAID เพราะ RAID คือการนำพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของ HDD หรือ SSD ตั้งแต่ 2 อันขึ้นไปมารวมเป็นพื้นที่เดียวกันแล้วมองเห็นทั้งหมดเป็นก้อนเดียวนั่นเองค่ะ และสำหรับ RAID แบบแรกที่เราจะพูดถึงกันคือ

RAID 0 หรือ Striping โดยการทำงานรูปแบบนี้จะใช้ประสิทธิภาพของไดร์ฟได้สูงสุดค่ะ เข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลจะถูกแบ่งออกไปส่วนเท่าๆ กัน ไม่มีการเขียนข้อมูลซ้ำ ทำให้หากไดร์ฟเสียหายไปอันหนึ่ง ข้อมูลทั้งหมดก็จะหายไปค่ะ ตัวอย่างการคำนวน RAID 0 ถ้ามี HDD 8TB 2 ลูกจะได้พื้นที่ใช้งานทั้งหมด 16TB ค่ะ เป็นระบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเร็วและพื้นที่เพิ่ม โดยข้อมูลไม่สำคัญมาก สามารถเสียหายได้

ต่อมาคือ RAID 1 นั่นเองค่ะ หรือ Mirroring รูปแบบนี้จะเขียนข้อมูลเดียวกันไปที่ไดร์ฟทั้ง 2 ลูกค่ะ หากไดร์ฟใดเสียหายไปไดร์ฟนึงตัวข้อมูลก็จะยังอยู่ไม่หายไปไหนนั่นเองค่ะ แต่ข้อเสียก็คือทำให้พื้นที่ในการใช้งานน้อยลงครึ่งนึงนั่นเอง ตัวอย่างการคำนวณ RAID 1 ถ้ามี HDD 8TB 2 ลูกจะได้พื้นที่ใช้งานทั้งหมด 8TB ค่ะ เป็นระบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการทนทาน มีไดร์ฟแค่ 2 ลูก และต้องการความปลอดภัยของข้อมูล

RAID 5 หรือ Striping with Parity รูปแบบนี้ต้องมีไดร์ฟ 3 ลูกขึ้นไปค่ะ รูปแบบนี้จะมีการใช้ไดร์ฟ 1 ลูกสำหรับการสำรองข้อมูลทั้งหมด และข้อมูลจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ไปเก็บไว้ในไดร์ฟแต่ละตัว และยังมี Parity Check Bit คอยตัวสอบความถูกต้องของข้อมูล ทำให้หากมีไดร์ฟใดไดร์ฟนึงเสียหาย ข้อมูลก็จะไม่ได้หายตามไปด้วยค่ะ แต่เราก็จะเสียพื้นที่ไดร์ฟไปเต็ม ๆ เลย 1 ลูก ตัวอย่างการคำนวณ RAID 5 ถ้ามี HDD 8TB 3 ลูกจะได้พื้นที่ใช้งานทั้งหมด 16TB ค่ะ เป็นระบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเร็วสูง พื้นที่ขนาดใหญ่ ความทนทานปานกลางไดร์ฟสามารถเสียหายได้ 1 ลูก

RAID 6 หรือ Striping with Double Parity รูปแบบนี้ต้องมีไดร์ฟ 4 ลูกขึ้นไปค่ะ จะคล้ายกับเมื่อกี้เลยค่ะ แต่เพิ่มการใช้ไดร์ฟ 2 ลูกสำหรับการสำรองข้อมูลทั้งหมด ข้อดีคือไดร์ฟสามารถเสียพร้อมกันได้มากถึง 2 ลูก แต่ก็เสียพื้นที่ในการเก็บข้อมูลไปเต็มๆ 2 ลูกเช่นเดียวกัน ตัวอย่างการคำนวณ RAID 6 ถ้ามี HDD 8TB 4 ลูกจะได้พื้นที่ใช้งานทั้งหมด 16TB ค่ะ เป็นระบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเร็วสูง พื้นที่ขนาดใหญ่ ความทนทานสูง ใช้งานหนักแบบมีการดึงข้อมูลใช้งานตลอดเวลาแบบ 24×7 ไดร์ฟสามารถเสียหายได้มากสุด 2 ลูก

RAID 10 หรือ Combining Mirroring and Striping รูปแบบนี้จะรวมข้อดีของ RAID 1 และ RAID 0 เข้าด้วยกันค่ะ โดยต้องมีไดร์ฟอย่างน้อย 4 ลูกและต้องมีไดร์ฟเป็นจำนวนคู่เท่านั้น โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการอ่าน/เขียนข้อมูล รวมทั้งยังสำรองข้อมูลได้อีกด้วย แต่ก็จะเสียงพื้นที่ใช้งานในการจัดเก็บข้อมูลไปครึ่งนึงจากความจุของไดร์ฟทั้งหมดค่ะ ตัวอย่างการคำนวณ RAID 10 ถ้ามี HDD 8TB 4 ลูกจะได้พื้นที่ใช้งานทั้งหมด 16TB ค่ะ เป็นระบบที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการความเร็วและความทนทาน แต่ไม่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่มาก และข้อมูลมีความสำคัญในการเก็บรักษาค่ะ

สำหรับ RAID แบบสุดท้ายที่เราจะมาพูดถึงกันถือว่าเป็นจุดเด่นของทางแบรนด์ Synology เลยค่ะ เพราะเป็นเทคโนโลยีเฉพาะ เรียกว่า Synology Hybrid RAID หรือย่อๆ ว่า SHR นั่นเองค่ะ เทคโนโลยีนี้ถูกออกแบบเพื่อให้การใช้งานง่ายและให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลได้มีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ เหมาะมากๆ กับผู้เริ่มต้นใช้งานแลผู้ที่ต้องการใช้ HDD ขนาดความจุไม่เท่ากันร่วมกันใน NAS ค่ะ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า RAID ปกติที่พูดมากก่อนน้านี้นั่นเองค่ะ โดยต้องมีไดร์ฟอย่างน้อย 2 ลูก โดยจะสามารถสำรองข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและเพิ่มขนาดพื้นที่ใช้งานของ NAS ค่ะ

สำหรับการทำงานของ SHR จะขอยกตัวอย่างเปรียบให้เห็นภาพตามนี้เลยค่ะ สมมติเรามี HDD 4 ลูก ขนาดต่างกันทั้งหมดเลย 8TB x2 และ 12TB x2

จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างของพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานได้อยู่ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้ นั่นก็เพราะว่า RAID แบบปกติที่มีการใช้งานจะยึดตามความจุไดร์ฟที่ต่ำที่สุดที่เราใส่เข้าไปค่ะ เพราะฉะนั้นหากเลือกเป็น RAID 5 ที่เลือกว่าจะให้มีไดร์ฟสำรองทั้งหมด 1 ไดร์ฟ ก็จะกลายเป็นว่าพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 8+8+8 = 24 TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 8 TB และถึงแม้ว่าเราจะมีไดร์ฟ 12TB ก็ตามแต่ส่วนที่เกินจาก 8TB ทั้งอีก 4TB ของทั้ง 2 ไดร์ฟ จะกลายเป็น 4+4 = 8TB เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานนั่นเองค่ะ

แล้วถ้าหากเลือกเป็น RAID 6 ที่เลือกว่าจะให้มีไดร์ฟสำรองทั้งหมด 2 ไดร์ฟ จะกลายเป็นว่าพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 8+8 = 16TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 8+8 = 16TB และส่วนที่เกินจาก 8TB ทั้งอีก 4TB ของทั้ง 2 ไดร์ฟ จะกลายเป็น 4+4 = 8TB เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานเช่นเดียวกัน

และสำหรับ SHR เขามีวิธีการจัดการไดร์ฟที่แตกต่างจาก RAID แบบเดิม ๆ ทั่วไปค่ะ เพราะเขาจะแบ่งความจุของไดร์ฟออกเท่า ๆ กันแบบนี้นะคะ แล้วแต่ละส่วนก็จะถูกสำรองไว้แบบนี้ค่ะ

ในแต่ละแถวแนวนอนแถวแรก มีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 4+4+4 = 12TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 4TB แถวต่อมาก็เช่นเดียวกันค่ะ พื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 12TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 4TB และในแถวสุดท้ายมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 4TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 4TB รวมทั้งหมดจะมีพื้นที่ว่างที่สามารถใช้งานเท่ากับ 12+12+4 = 28TB และเป็นไดร์ฟสำรองอีก 4+4+4 = 12TB นั่นเอง ซึ่ง SHR สามารถทำให้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานลดลงนั่นเองค่ะ สำหรับการคำนวณ RAID เพิ่มเติมสามารถกด Link ได้เลยค่ะ ตัวคำนวณ RAID | Synology Inc.

 

 2,803 total views,  6 views today

You cannot copy content of this page